วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สถานีวิจัยประมงศรีราชา ฝ่ายสนับสนุนวิชาการ คณะประมง มก. 2546

ชีววิทยาของปลากะพงขาว

ปลากะพงขาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) ว่า Lates calcarifer ซึ่งลักษณะโดยทั่ว ๆ ไปของปลากะพงขาว มีลักษณะลำตัวค่อนข้างยาวและหนาแบนข้างเล็กน้อย บริเวณไหล่จะโค้งมน ส่วนตัวจะลาดชันและเว้า ส่วนของขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบนเล็กน้อย ปากกว้าง ขอบปากบนเป็นแผ่นใหญ่ แยกเป็นแนวตอนต้น และตอนท้ายอย่างชัดเจน บริเวณส่วนปากจะยืดหดได้บ้าง ช่องปากเฉียงลงด้านล่างเล็กน้อย มีฟันเล็กละเอียดบนขากรรไกรบนและล่างและที่เพดานปาก ตาของปลาชนิดนี้มีขนาดกลาง ไม่มีเยื่อที่เป็นไขมันหุ้ม แผ่นปิดเหงือกมีขนาดใหญ่ มีขอบหลังเป็นหนามแหลม 4 ซี่ และเรียงต่อด้วยซี่เล็ก ๆ จัดตามแนวหลัง ด้านบนส่วนหัว และบนแผ่นเหงือก มีเกล็ดขนาดต่าง ๆ กัน เกล็ดบริเวณลำตัวค่อนข้างใหญ่ ด้านหลังมีสีเทาเงินหรือเขียวปนเทา ส่วนท้องมีสีเงินแกมเหลือง บริเวณด้านข้างของลำตัวมีสีเงิน ครีบหลัง ครีบก้น ครีบหาง จะมีสีเทาปนดำบาง ๆ มีครีบหลัง 2 ตอน ตอนแรกอยู่ตรงตำแหน่งของครีบท้อง มีก้านครีบแข็ง ที่แหลมคมขนาดใหญ่ 7-8 ก้าน เชื่อมต่อกันด้วยเยื่อบาง ๆ ครีบหลังตอนที่ 2 แยกจากตอนแรกอย่างเห็นได้ชัด มีก้านครีบแข็ง 1 ก้าน ก้านครีบอ่อนมีปลายแตกแขนงมี 10-11 ก้าน ครีบหูและครีบอกยาว ไม่ถึงรูก้น ครีบก้นมีตำแหน่งใกล้เคียงกับครีมหลังตอนที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยก้านครีบแข็ง 3 ก้าน ก้านครีบอ่อน 7-8 ก้าน ข้อหางสั้น ครีบหางค่อนข้างกลมเส้นข้างตัวโค้งไปตามแนวสันหลัง มีเกล็ดบนเส้นข้างตัว 52-61 เกล็ด

การแพร่กระจาย

ปลากะพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อยขนาดใหญ่ที่สุด เจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อยและน้ำจืด จัดได้ว่าเป็นปลาประเภท 2 น้ำ คือในช่วงชีวิตของปลากะพงขาวจะมีการเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างแหล่งน้ำจืด และน้ำเค็ม ปลากะพงขาวขนาดใหญ่จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไม่ห่างไกลออกไปจากฝั่งมากนัก พบมากบริเวณปากแม่น้ำลำคลอง ปากทะเลสาบและปากอ่าวบริเวณที่เป็นป่าชายเลน ที่มีน้ำเค็มท่วมถึง โดยจะพบอยู่ทั่ว ๆ ไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่พม่า ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และแถบชายฝั่งทะเลของจีน ก็พบปลาชนิดนี้เช่นเดียวกัน สำหรับประเทศไทยเรานั้นสามารถพบปลากะพงขาว ตามชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำใหญ่ ๆ ที่มีทางออกติดต่อกับทะลที่มีป่าชายเลนขึ้นปกคลุมทางจังหวัดตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม เป็นต้น
ปลากะพงขาวจะผสมพันธุ์และวางไข่ในน้ำทะเลที่มีความเค็มประมาณ 28-32 ppt ในทะเลที่มีความลึก หลังจากนั้นไข่จะถูกพัดพาเข้าสู่บริเวณชายฝั่ง และฟักออกเป็นตัว ลูกปลากะพงขาวที่ฟักออกเป็นตัว จะดำรงชีวิตในน้ำกร่อยและในน้ำจืด จนมีอายุได้ 2-3 ปี มีขนาด 3-5 กิโลกรัม จะเคลื่อนตัวออกสู่ทะเล เพื่อทำการผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป

การแยกเพศ

ปลากะพงขาวเป็นปลาที่สังเกตเพศได้ยาก แต่ก็สามารถสังเกตเพศได้จากลักษณะภายนอกของตัวปลา โดยปลาเพศผู้จะมีลักษณะลำตัวยาวเรียวกว่าเพศเมีย ลำตัวมีส่วนลึกที่น้อยกว่าปลาเพศเมีย และมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปลาเพศเมียที่มีขนาดลำตัวยาวเท่ากัน ในปลาเพศเมียนั้น เมื่อถึงฤดูวางไข่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ส่วนท้องจะอวบเปล่ง สังเกตได้ชัดเจน เมื่อเวลาเอามือคลำที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมา

แหล่งพันธุ์ปลา

การรวบรวมลูกพันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น การรวบรวมลูกปลาในแต่ละครั้งพบว่ามีปัญหาหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น ลูกปลาที่รวบรวมได้ในแต่ละครั้งมีจำนวนที่ไม่แน่นอน ปริมาณลูกปลาที่รวบรวมได้มีปริมาณที่ไม่มากพอกับความต้องการเลี้ยง ดังนั้นแหล่งลูกพันธุ์ที่สำคัญได้แก่ พันธุ์ลูกปลาจากโรงเพาะฟักปลากะพงขาวของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง หรือศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของกรมประมง หรือโรงเพาะฟักปลากะพงขาวของเอกชน

การเลือกสถานที่สร้างบ่อ

การเลี้ยงปลากะพงขาว ผู้เลี้ยงจะต้องพิจารณาถึงสถานที่ในการสร้างบ่อ เพื่อให้ความเหมาะสมกับสภาพของปลาที่เลี้ยง สิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงควรพิจารณามีดังนี้
ดิน คุณสมบัติของดินที่ความเหมาะสมที่จะใช้ในการสร้างบ่อเลี้ยง ควรจะเป็นบ่อดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย เนื่องจากดินทั้งสองประเภทนี้สามารถกักน้ำได้ตามต้องการ
แหล่งน้ำ สถานที่ดีและเหมาะสมควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำเป็นสำคัญ เพราะในการเลี้ยงปลาจะต้องมีการถ่ายเปลี่ยนน้ำอยู่เสมอ ๆ ต้องมีน้ำใช้ตลอดปี คุณภาพของน้ำจะต้องดีและมีความเหมาะสม
แหล่งชุมชน สถานที่เลี้ยงปลากะพงขาวที่ดีควรอยู่ใกล้แหล่งชุมชนพอสมควร แต่จะอยู่ห่างไกลจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง เนื่องจากมลพิษต่าง ๆ มีผลต่อการเลี้ยงปลากะพงขาว
การคมนาคม สถานที่เลี้ยงปลากะพงขาวที่ดี ควรมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก เพราะสามารถที่จะช่วยให้การดำเนินการติดต่อต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดี
สภาพสังคม สภาพของสังคมในบริเวณที่เลี้ยงปลากะพงขาวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สภาพสังคมที่ดีนั้น มีความเหมาะสม ไม่มีโจรผู้ร้ายชุกชุม จะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความสะดวก

การเตรียมบ่อ

- บ่อใหม่ หมายถึงบ่อที่เพิ่งทำการขุดเสร็จใหม่ ๆ ยังไม่ได้มีการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดใด ๆ มาก่อน ในการเตรียมบ่อโดยวิธีนี้ จะต้องกระทำตามขั้นตอนที่ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมดังนี้
1. การปรับค่าเป็นกรด-ด่าง ให้มีความเหมาะสม
2. การตากบ่อ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนขึ้นไป
- บ่อเก่า ในการเตรียมบ่อที่เคยเลี้ยงสัตว์น้ำมาแล้ว จะเริ่มจากการสูบน้ำจากบ่อให้หมด ขุดลอกเลนและกำจัดเศษวัชพืช และศัตรูของปลาออก ตามบ่อทิ้งไว้ให้แห้ง ในกรณีที่ไม่สามารถจะสูบน้ำออกจากบ่อให้หมดได้ ให้ใช้โล่ติ๊นในอัตราส่วน 10 กิโลกรัมต่อพื้นที่บ่อ 1 ไร่ ระดับน้ำ 30-50 เซนติเมตร ทุบโล่ติ๊นแล้วราดน้ำยาให้ทั่วบ่อปลาที่ไม่ต้องการจะตายในที่สุดจับปลาเหล่า นั้นให้หมดไปจากบ่อ สูบน้ำเข้าให้ได้ระดับแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์จึงระบายน้ำออก แล้วใส่น้ำใหม่จะได้น้ำที่ใช้งานได้ทันที

อัตราการปล่อยลูกปลากะพงขาว

การปล่อยลูกปลากะพงขาวนั้น มีหลักการเดียวกับการปล่อยสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ ควรปล่อยปลาในอัตราความหนาแน่นที่มีความเหมาะสม ในการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน ถ้าจะปล่อยปลากะพงขาว ควรได้คำนึงถึงจำนวนปลาชนิดอื่น ๆ ที่มีในบ่ออัตราการปล่อยลงเลี้ยงรวมประมาณ 10-50 ตัวต่อพื้นที่ 1 ไร่ ส่วนการเลี้ยงปลากะพงขาวเพียงชนิดเดียว อัตราการปล่อยปลาลงเลี้ยงจะปล่อยปลาได้ประมาณ 5-20 ตัวต่อตารางเมตร

อาหารและการให้อาหาร อาหารที่ใช้เลี้ยงปลากะพงขาวในปัจจุบันได้แก่ ปลาเป็ดอย่างเดียวกับการเลี้ยงในกระชัง ขนาดของอาหารมีความสำคัญมาก เพราะปลากะพงขาวจะกินอาหารที่มีขนาดพอดีกับปาก โดยวิธีการฮุบอาหารบนผิวน้ำเมื่ออาหารตกลงสู่พื้นบ่อ ปลากะพงขาวจะไม่กินอาหารเหล่านั้น ทำให้น้ำเน่าเสียได้ หลักการให้อาหารปลากะพงขาว จึงพอจะสรุปได้ดังนี้
1. ให้อาหารวันละ 1-2 ครั้ง ตรงตามเวลา
2. ให้อาหารให้เป็นที่ เช่น บริเวณที่ใกล้กับประตูน้ำบริเวณท่อที่ระบายน้ำเข้า
3. หลีกเลี่ยงการให้อาหารบริเวณมุมบ่อทั้งสี่ เพราะจะทำให้เกิดการหมักหมมของอาหารที่เหลือได้ง่าย
4. โยนอาหารให้ปลาครั้งละน้อย ๆ รอจนอาหารหมดก่อนจึงให้ต่ออีกเช่นนี้เรื่อยไป
5. ปริมาณอาหารที่ให้จะสังเกตได้จากปลาจะไม่ขึ้นมาฮุบอาหารกินอีก จึงหยุดให้อาหาร
นอกจากปลาเป็ดแล้ว ปลาเล็ก ๆ หรือกุ้งที่มีอยู่ในบ่อก็สามารถที่จะเป็นอาหารให้กับปลากะพงขาวได้ดี ถ้าปลาอดอาหารพบว่า ปลากะพงขาวจะกินกันเองด้วย
ปลาเป็ด ปลาสด ปลาหมึก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อปลากินหมด จะเหลือลงสู่พื้นบ่อ ทำให้เกิดการเน่าเสีย เมื่อมีจำนวนมากขึ้นจะมีผลทำให้น้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นเหตุให้ปลาเกิดโรคได้โดยง่าย การถ่ายเปลี่ยนน้ำโดยสม่ำเสมอ จึงช่วยรักษาคุณภาพท้องน้ำให้มีความเหมาะสมได้ การถ่ายเปลี่ยนน้ำที่นิยมใช้มี 2 วิธีด้วยกันคือ
1. การเติมน้ำเข้าทุก ๆ วัน
2. การถ่ายน้ำเก่าออกประมาณ 50-75 เปอร์เซ็นต์ แล้วระบายน้ำใหม่เข้าสู่บ่อ ซึ่งนิยมมากเมื่อน้ำเริ่มเสีย
ปลากะพงขาวชอบน้ำที่สะอาด หากน้ำเน่าเสียหรือเก่าแล้ว พบว่าปลาจะไม่กินอาหาร ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ และปลาจะอ่อนแอลง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ง่ายทำให้ปลาตายในที่สุด ในการเปลี่ยน้ำที่มีความเค็มนั้น ควรจะให้มีความเค็มใกล้เคียงกันกับความเค็มของน้ำในบ่อเลี้ยง ปลากะพงขาวขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 200 กรัมขึ้นไป มีความไวต่อการขาดออกซิเจน ถ้าปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำกว่า 3 ส่วนในล้าน อาจทำให้ปลากระทบกระเทือน ลอยหัวและไม่กินอาหาร ถ้ายังคงลงต่ำอีก จะถึงตายได้ สิ่งนี้ต้องระวังมากเมื่อเลี้ยงปลากะพงขาวหนาแน่น วิธีป้องกันคือ การถ่ายเทน้ำเป็นประจำ โดยเฉลี่ยอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำในบ่อต่อวัน
การจับปลากะพงขาว อวนเป็นอุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่นิยมใช้กันมากที่สุด การจับปลากะพงขาวในบ่อดิน เมื่อระยะเวลาในการเลี้ยงเข้าสู่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป จะสามารถใช้อวนลากตามความยาวของบ่อได้
ผลผลิตของปลากะพงขาวในบ่อดิน ผลผลิตโดยทั่วไปในระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือนจะให้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัมต่อพื้นที่ของบ่อ 1 ไร่ และจากการศึกษาทดลองของสถานีประมงน้ำกร่อยจังหวัดระยอง เริ่มจากการปล่อยปลากะพงขาวที่มีขนาด 5-8 เซนติเมตร ลงในบ่อเลี้ยงนั้น จะปล่อยปลา 2 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร เลี้ยงด้วยอาหารพวกปลาเป็ดในระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือน พบว่ามีอัตราการรอดตายสูงถึง 92.87 เปอร์เซ็นต์ ให้ผลผลิต 1,467.22 กิโลกรัมต่อพื้นที่ของบ่อ 1 ไร่

แนวโน้มการตลาดของปลากะพงขาว

สภาพตลาดปลากะพงขาวในปัจจุบัน โดยปกติราคาปลากะพงขาวที่รับซื้อปากบ่อเลี้ยงเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 70-130 บาท ผู้เลี้ยงควรนำเรื่องเวลาในการเลี้ยงมาพิจารณาก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงด้วย เพราะจะทำให้มีกำไรมากน้อยต่างกัน อย่างไรก็ตามกลไกตลาดย่อมมีการเปลี่ยนแปลงผู้เลี้ยงที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ย่อมได้เปรียบ ผู้เลี้ยงที่ต้องการความสำเร็จคือกำไรจกาการเลี้ยงดี จะต้องเข้าใจในการลงทุนและคิดตามการเคลื่อนไหวของตลาดอย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้จะช่วยในการวางแผนได้ดี ปลาที่ใช้เป็นอาหารของปลากะพงขาวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากในการเลี้ยงปลากะพงขาว หากผู้เลี้ยงหาซื้อปลาเหยื่อได้ง่ายและราคาถูก ก็จะมีผลให้ได้กำไรสูงขึ้น โดยเฉลี่ยต้นทุนในการเลี้ยงปลากะพงขาวทั้งต้นทุนผันแปร (ค่าอาหาร ค่าพันธุ์ปลา ค่าแรง ค่าวัสดุต่าง ๆ) และต้นทุนคงที่ (ค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ค่าเสียโอกาสในการลงทุน) อยู่ระหว่าง 50-60 บาทต่อปลา 1 กิโลกรัม ดังนั้นจะมีกำไรเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10-85 บาท หรือถ้าคิดกำไรต่อไร่โดยคิดอัตรารอดประมาณ 60-80 % อัตราปล่อยอยู่ที่ 2-3 ตัวต่อตารางเมตร จะได้ผลผลิตประมาณ 1,500-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจะได้กำไรประมาณ 20,000-170,000 บาทต่อไร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น