วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เส้นทางการเลี้ยงปลาช่อนเงินล้าน ที่บ้านบางบอน สุพรรณบุรี

ปลาช่อน เป็นสัตว์น้ำจืดที่ผู้คนรู้จักกันดี เนื่องจากทุกๆ แหล่งน้ำมักมีปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ เนื้อและรสชาติค่อนข้างดีด้วย

แถวๆ จังหวัดสุพรรณบุรีมีผู้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพมายาวกว่า 30 ปีแล้ว บางคนสร้างฐานะด้วยปลาชนิดนี้ สร้างบ้านเรือนใหญ่โตดังคฤหาสน์

ที่ บ้านบางบอน ตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมชาวบ้านยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ปัจจุบันนี้หันมาปรับสภาพพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลาช่อนกันเกือบทั้งหมด

ด้วย สาเหตุหลักๆ ดังนี้ คือมีผลตอบแทนดีกว่าทำนา และอยู่ใกล้กับทะเล ทำให้สามารถหาซื้อปลาเป็ดมาเป็นอาหารปลาช่อนได้สะดวก นอกจากนี้ สภาพพื้นที่นี้อยู่ติดกับแม่น้ำ ทำให้มีสายน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีด้วย

"น้ำ" เป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลาช่อน เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบความสะอาด หากมีไหลผ่านตลอด จะทำให้กินอาหารได้เก่ง และเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งยังปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย

บ้านบางบอน มีคลองสองพี่น้องไหลผ่าน ในอดีตดูดน้ำมาทำนา ทำไร่ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป ด้วยชาวบ้านสองฟากฝั่งคลองหันมาขุดบ่อเลี้ยงปลาช่อนแทน และได้อาศัยสายน้ำดังกล่าวเป็นหัวใจหลักในการยึดอาชีพนี้

ชาวบ้านที่ นี่จะดูดน้ำจากคลองเข้าบ่อเลี้ยงปลาตั้งแต่เช้าตรู่ยันพระอาทิยต์อัสดง โดยน้ำไหลผ่านบ่อเลี้ยงปลาช่อนและบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนไหลลงสู่กลับลำคลองอีก ครั้ง

ในการเลี้ยงปลาช่อนแต่ละรุ่นต้องใช้ระยะเวลานานเกือบ 8 เดือน ถึงจะสามารถจับขายได้ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้น้ำและอาหารปริมาณมากเลยทีเดียว

ที่นี่ชาวบ้านจะเดิน ทางไปซื้อปลาทะเลหรือปลาเป็ดที่มหาชัยทุกวัน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปลาสดๆ มาเป็นอาหารปลาช่อน โดยไม่หวังพึ่งอาหารสำเร็จรูป ด้วยว่าการเจริญเติบโตช้า ต้นทุนสูง ไม่คุ้มกับการลงทุนนั่นเอง

ชาว บ้านผู้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ ทดลองเรื่องอาหารมาหลายสูตรแล้ว สุดท้ายสู้ปลาเป็ดจากท้องทะเลไม่ได้ เพราะว่าเจริญเติบโตดี คุ้มกับการลงทุน

บ้านบางบอน อยู่ห่างจากจังหวัดสมุทรสาครไม่ถึงร้อยกิโลเมตร ขับรถไปกลับใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้นเอง

การ เลี้ยงปลาช่อนของชาวบ้านที่นี่จึงมีความพร้อมหรือสะดวกกว่าที่อื่นๆ มิแปลกใจเลยที่ผู้คนส่วนใหญ่ยึดอาชีพนี้ จนกลายเป็นหมู่บ้าน "ปลาช่อน" ไปเลย

หันมาเรื่องตลาดรับซื้อปลาช่อนนั้น มีอยู่ 3 แห่งใหญ่ๆ คือตลาดไท ตลาดปลาน้ำจืดที่จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดนครปฐม ซึ่งทุกๆ วันจะมีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเข้ามาซื้อผลผลิตปลาช่อนของชาวบ้าน เพื่อนำส่งในตลาดดังกล่าว

น้อยรายที่เลี้ยงเอง ส่งขายเอง ส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าคนกลางจัดการให้ ทั้งนี้เพราะว่าไม่ต้องเสียเวลาในการขนส่ง และไปนั่งขายเองด้วย

ปลา ช่อนที่วางขายในตลาดไทหรือตลาดอ่างทองและนครปฐมนั้น จะถูกพ่อค้าขายส่งซื้อสินค้าไปกระจายเข้าสู่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทยเลยทีเดียว

รู้จัก ผู้ใหญ่ประจวบ สมเหมาะ สร้างฐานะด้วยปลาช่อน

คุณ ประจวบ สมเหมาะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพกว่าสิบปีแล้ว และใครเป็นแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นประจำ ก็คงรู้ประวัติความเป็นมาแล้ว เพราะว่าได้สัมภาษณ์นำมาตีพิมพ์ เมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา

กาลเวลาผ่านไปผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางกลับไปหาคุณประจวบอีกครั้ง เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา วันนี้แตกต่างกับวันนั้นโดยสิ้นเชิง

บ้านที่เคยอาศัยหลังเล็กๆ ได้กลายเป็นหลังใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินดินปากทางเข้าฟาร์มเลี้ยง

รถยนต์ที่เคยใช้รถกระบะเก่าๆ แต่วันนี้เปลี่ยนไป กลับมีรถสี่ประตูใช้เป็นพาหนะคู่ใจ

แม้ว่าอายุมากขึ้น แต่สีหน้าและรอยยิ้มยังเหมือนเดิม บ่งบอกถึงความสุขในครอบครัว และอาชีพที่เขาบรรจงเลือก

ผู้ใหญ่ ประจวบ บอกว่า เหตุที่เปลี่ยนแปลงได้เร็ว ก็เพราะว่าเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ส่งผลให้สัตว์น้ำมีการปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะปลาช่อน ทำให้เจ้าของฟาร์มได้กำไรกันมาก

"ช่วงนั้นหมู่บ้านของผมคึกคักมากเลย ทุกคนมีเงินเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือคนที่หาลูกปลามาขาย อีกทั้งมีพวกพ่อค้าแม่ค้าขาจร ขับรถกระบะเข้ามารับซื้อปลาช่อนปากบ่อ เพื่อนำสินค้าไปขายทั่วประเทศ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในหมู่บ้านมาก"

"ผม เลี้ยงปลาช่อนไว้กว่า 10 บ่อ จับขายได้แต่ละบ่อ 10 ตันเศษ ทำเงินไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านต่อบ่อ ในขณะที่ปลาเหยื่อหรือปลาเป็ดราคายังไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก คือ 6-7 เท่านั้นเอง เพราะว่าราคาน้ำมันยังถูกอยู่ ผมและชาวบ้านที่เลี้ยงปลาช่อนได้กำไรค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว" ผู้ใหญ่ประจวบ เล่าด้วยรอยยิ้ม

ปีนี้ราคาดี แต่ผู้เลี้ยงเศร้า

แต่ สำหรับปีนี้ผู้ใหญ่ประจวบพูดด้วยน้ำเสียงเบาๆ ว่า คงไม่เหมือนปีที่ผ่านๆ มา เพราะว่าราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ และสภาพเศรษฐกิจขาลง ผู้บริโภคเริ่มประหยัดกันมาก

ราคาน้ำมันสูง ทำให้ราคาปลาเป็ดที่มหาชัย ปรับตัวขึ้นจาก 6-7 บาท เป็น 9-10 บาท นอกจากนี้ ค่าน้ำมันที่ใช้กับเครื่องสูบน้ำก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

"ปัจจุบัน นี้ราคาซื้อปลาใหญ่อยู่ที่ 80 บาท ต่อกิโลกรัม แต่เฉลี่ยไซซ์รวมอยู่ที่ 68-69 บาท ถ้าเป็นปีก่อนๆ ได้กำไรมาก แต่ปีนี้เกือบขาดทุนเลย เนื่องจากปัจจัยมาจากราคาน้ำมันเป็นหลัก" ผู้ใหญ่ประจวบ กล่าวและว่า โอกาสที่ราคาปลาปรับตัวมากกว่านี้ ก็แทบไม่มีด้วย เนื่องจากปัจจุบันนี้ปลาช่อนที่จังหวัดสุพรรณบุรีออกสู่ท้องตลาดน้อยลง ไม่ใช่สาเหตุมาจากคนเลี้ยงน้อยหรอก เข้าใจว่าผู้บริโภคหันไปซื้ออาหารชนิดอื่นที่มีราคาถูกมากขึ้น ด้วยว่ามีเงินน้อยลงนั่นเอง

"เมื่อก่อนราคารับซื้อปลาจะแพงในช่วง เดือนเมษายน-พฤษภาคม-มิถุนายน แต่เดี๋ยวนี้แพงตลอดเกือบทั้งปี แต่โอกาสขยับสูงกว่า 80 บาท แทบจะไม่มี เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อจำกัด เมื่อก่อนปลาช่อนจากจังหวัดสุพรรณบุรีออกสู่ตลาดวันละ 3,000 ลัง แต่ปีนี้เหลือเพียง 2,000 ลัง หรือ 1,000 กิโลกรัมเท่านั้นเอง"

เมื่อ ราคารับซื้อไม่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ตามสภาวะต้นทุนการผลิต เพราะว่าผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อยลง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก โดยเฉพาะปลาช่อน ด้วยว่าเป็นปลาเศรษฐกิจ แต่มาบัดนี้เริ่มส่อแววให้เห็นแล้ว

ผู้ใหญ่ ประจวบ บอกว่า หากสถานการณ์เป็นไปตามที่คาดคะเนไว้ ผู้เลี้ยงทุกคนต้องได้รับความเดือดร้อนแน่นอน ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่หรือลดปริมาณการเลี้ยงลง เพื่อประคองตัวเองให้ผ่านพ้นวิกฤตให้ได้

"ผู้เลี้ยงปลาช่อนมีขึ้นมี ลง หากจำไม่ผิดเราเคยมีเหตุการณ์ราคาปลาตกต่ำมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 5-6 ปี ที่ผ่านมา พวกเราก็สามารถประคองตัวเองมาได้จนถึงทุกวันนี้เลย"

เหตุการณ์ที่ กำลังเกิดขึ้นผู้ใหญ่ประจวบบอกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของสินค้าเกษตร มีขึ้นและมีลง แต่ที่สำคัญเราจะปรับตัวอย่างไร ถึงจะปลอดภัย ไม่ขาดทุน และอยู่วงการนี้ได้ตลอดไป

"อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปลาช่อน ยังดีกว่าอาชีพอื่นอยู่มาก โดยเฉพาะทำนา เพราะว่าผมเคยผ่านอาชีพนี้มาแล้ว ทำนานั้นมีอยู่มีกินไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น ไม่มีโอกาสที่จะร่ำรวยได้ แต่อาชีพการเลี้ยงปลาช่อนมีสิทธิ์ที่ก้าวกระโดด และขณะเดียวกันมีสิทธิ์จนหรือเป็นหนี้ได้เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับการจัดการหรือการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากกว่า เป็นงานที่ท้าทาย แต่สำหรับผมนั้นประสบการณ์ช่วยได้เยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดูแลหรือเลี้ยงปลา และการตลาด เป็นต้น มันช่วยให้ผมประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้เลย" ผู้ใหญ่ประจวบ กล่าว

สำหรับ มือใหม่หรือคนที่กำลังจะเข้าสู่อาชีพนี้ผู้ใหญ่ประจวบแนะนำว่า ต้องมีเงินทุนหมุนเวียนได้เกือบทั้งปี และต้องมีสถานที่ที่เหมาะสม อยู่ใกล้แหล่งน้ำและอาหารปลาสดๆ จากท้องทะเล

"ปลาช่อนนี้กินอาหารมาก ผมเลี้ยง 10 บ่อ วันหนึ่งๆ ต้องซื้อปลาสดมาให้กิน 20,000-30,000 บาท แล้วเดือนๆ กินอาหารหลายแสนบาท เราต้องมีเงินทุนสำรอง ไม่ใช่ไปกู้เงินดอกเบี้ยสูงมาเลี้ยง มันอาจจะขาดทุนได้ ทางออกที่ดีสำหรับมือใหม่ ให้เริ่มจากจุดเล็กๆ เลี้ยงเพียง 1-2 บ่อ เพื่อให้ได้ประสบการณ์และใช้เงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างน้อยด้วย เมื่อจับขายได้เงินมาก้อนหนึ่งแล้ว ก็ค่อยขยับขยายบ่อออกไป โดยทยอยปล่อยปลา 2-3 เดือน ต่อบ่อ ทั้งนี้เพื่อป้องกันเรื่องเงินหมุนเวียนไม่ทันได้ เพราะว่าสามารถทยอยจับปลาขายได้ไปเรื่อยๆ เกือบทุกเดือนเลยทีเดียว" ผู้ใหญ่ประจวบ กล่าวแนะนำสำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ

ส่วน ราคารับซื้อจะดีหรือไม่ดี มันเป็นเรื่องกลไกลด้านตลาด ปีนี้ตกต่ำ ปีหน้าอาจจะกระโดดสูงก็ได้ ใครจะไปรู้ ขอให้เตรียมความพร้อมไว้ก่อนก็แล้วกัน


การเลี้ยงปลาช่อนในบ่อซีเมนต์

นางย้อม แสงสว่าง อายุ 53 ปี ณ บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 2 ต.ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง เป็นผู้ริเริ่มเลี้ยงปลาช่อนในบ่อซีเมนต์เป็นผลสำเร็จน่าภูมิใจอย่างยิ่ง คุณย้อมเล่าว่า มีเวลาว่างก็เลยคิดที่จะทดลองเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อซีเมนต์ ซึ่งมีที่อยู่รอบบ้านว่างอยู่ โดยครั้งแรกก็นำปลาหมอไทยมาเลี้ยง ปลาดุก กบมาเลี้ยงก็ได้ผลแต่ปลาหมอไทยไม่ได้ผลเนื่องจากการเติบโตช้ามาก จึงข้ามมาทดลองเลี้ยงปลาช่อนดู เห็นว่าราคาดีและยังไม่มีใครทำจึงได้ดำเนินการดังนี้

เตรียมบ่อซีเมนต์

1. บ่อซีเมนต์ควรทำหลายๆบ่อก็จะดี เช่น บ่ออนุบาลปลาช่อน ควรมีขนาด 2 x 3 เมตรหรือ 2x2 เมตรก็ได้ ความลึกขนาด 30 ซม. มีหลังคาคลุมป้องกันงู นก จะมากินลูกปลาช่อน ปล่อยลูกปลาขนาด (ประมาณ1-2 นิ้ว) ได้ 2000-3000 ตัว ควรทำ 2-3 บ่อถ้าต้องเลี้ยงปลาจำนวน 10000 ตัว อนุบาลไว้ 30 วัน

2. บ่อเลี้ยง ควรมีขนาด 5x10 เมตร ลึก 1 เมตร แช่น้ำให้มีตระใคร่น้ำจับให้หมดฤทธิ์ของปูน ใส่น้ำขนาดความลึก 30 ซม. ใส่ผักตบชวา (ผักปลอด) จำนวนครึ่งของพื้นที่บ่อให้ปลาช่อนได้หลบแสงและป้องกันน้ำเสียง่าย บ่อเลี้ยงมีอย่างน้อย 2-3 บ่อ เพื่อให้คัดขนาดของปลาที่โตเท่าๆ กันเลี้ยงในบ่อเดียวกัน การหาลูกปลาช่อนและการอนุบาล ลูกปลาช่อนหาได้จากลำคลอง ทุ่งนาข้าว หรือ แหล่งน้ำ จะเห็นว่าในช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมปลาช่อนจะวางไข่ และ จะมีลูกปลาเล็กๆ ตัวขนาด 1-2 นิ้ว เป็นฝูงจะมองเห็นผุดน้ำระยิบๆ ก็จะนำสวิงตาถี่ เช่นไนลอนเขียวทำเป็นสวิงตักปลาขนาดกลางเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1เมตร นำไปช้อนลูกปลาและใส่ภาชนะกระมังใหญ่ๆ หรือใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ อัดอ๊อกซิเจนกรณีลำเลียงลูกปลาไกลๆ เมื่อได้ลูกปลาแล้วนำมาแช่น้ำใหม่โดยใส่ยาฆ่าเชื้อโรคเจือจางก่อนนำลง บ่ออนุบาล ทิ้งไว้ 1วัน ให้ลูกปลาหิวก็จะนำอาหารชนิดผงของปลาดุกเล็กมาปั้นก้อนขนาดเท่าหัวแม่มือ 2-3 ก้อน วางลงในบ่อปลาลูกปลาจะเข้ามากินและชอบกินมาก ในวันต่อๆ มา ควรให้วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น และในสัปดาห์ต่อมาควรฝึกให้กินจิ้งหรีดตัวเล็กๆ ในสัปดาห์ที่ 3-4 ซึ่งลูกปลาจะโตขนาดเท่านิ้วมือความยาวขนาด 4-5 นิ้ว การเลี้ยงปลาเป็นใหญ่ เมื่อลูกปลาอายุ 1 เดือน จะย้ายปลาช่อนลงบ่อเลี้ยงขนาด 5x10 เมตร จำนวนบ่อละ 2000-3000 ตัว ช่วงนี้กรณีไม่มีจิ้งหรีดหรือไม่เพียงพอ ให้ใช้หอยเชอรี่มาต้มทั้งตัวและ แคะเอาแต่เนื้อหอยมาสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปใส่ในบ่อปลาช่อนจะกินจำนวนหอยเมื่อแกะแล้วจำนวนครั้งละ 1 กิโลกรัม แต่จะทำให้น้ำเสียเร็ว ประมาณ 15วัน จะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ กรเปลี่ยนถ่ายน้ำให้น้ำไหลออกจากรูระบายน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าตัวปลา ปล่อยน้ำให้หมดบ่อเลยแล้วเอาน้ำใหม่ใส่ ข้อดีคือ ทำให้เราเห็นสภาพของปลาได้ชัดเจนว่า ปลาเจ็บป่วยหรือไม่ และปริมาณการเติบโตจะเห็นได้ชัด พร้อมทั้งคัดขนาดของปลาได้

ข้อระวัง

บ่อจะต้องมีตาข่ายไนล่อนเขียวขึงปิดไว้ริมบ่อให้สูง ยิ่งถ้าฝนตกปลาช่อนจะกระโดดสูง ถ้าไม่กันจะกระโดดออกหมด


อาหารเลี้ยงปลาช่อน

จำเป็นจะต้องลดต้นทุนให้มากที่สุด ให้ได้กำไรมากที่สุด ช่วงระยะของการเลี้ยงปลาช่อน

1. ต้องการปลาช่อนขนาดเล็ก 4 ตัว/กิโลกรัม จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

2. ต้องการปลาช่อนขนาด 2-3ตัว /กิโลกรัม จะใช้เวลาประมาณ 8-9 เดือน ในกรณีที่ใช้อาหารปลาดุก +จิ้งหรีด ระยะเวลาจะเร็วกว่านี้ ประมาณ 1 เดือนการให้อาหารปลาช่อนให้เช้า-เย็น กรณีถ้าเราเลี้ยงจิ้งหรีดได้สัปดาห์ละ 5 หมื่นตัวต่อสัปดาห์ จะเพียงพอสำหรับการเลี้ยงปลาดุก 1 บ่อ(2000-3000ตัว)

การตลาด ปลาช่อนเป็นปลาเศรษฐกิจขายได้ทุกขนาด ยิ่งน้ำหนักตัวละ 8-9 ขีด ถึง 1กิโลกรัม จะได้ราคาดีกิโลกรัมละ70-80 บาท ถ้าเผาปลาช่อนขายจะขายได้ตัวละ 90-100 บาท ปลาช่อนเล็ก ราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท แต่ถ้าแปรรูปเป็นปลาเค็ม ปลาช่อนแดดเดียว ราคากิโลกรัมละ 120 บาท ความต้องการของตลาดมีมาก ในช่วงเวลาก่อนขาย 1 เดือน จะถ่ายน้ำบ่อยเพื่อให้ปลาช่อนไม่มีกลิ่นสาบของน้ำและช่วงเวลาจับขายจะให้ อาหารจิ้งหรีด หรืออาหารปลาดุกชนิดเม็ดอย่างเดียว ไม่ให้หอยเชอรี่เนื่องจากจะทำให้น้ำมีกลิ่นและปลาจะมีกลิ่นตามไปด้วย ควรถ่ายน้ำบ่อยๆ ในช่วงเดือนที่จะจับขาย ปลาช่อนจะมีสีสวยงามสีของปลาช่อนจะมีเกล็ดเป็นเงางามอ้วนสมบูรณ์ ในขณะเลี้ยงจะต้องจำกัดอาหารให้พอดี ปลาช่อนชอบกินอาหรประเภทจิ้งหรีดมาก บางครั้งพบว่ากินจนท้องแตกในระยะเล็ก ๆ

การแปรรูปปลาช่อน

ทุกคนทราบดีว่าปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดที่บริโภคได้อร่อย ทั้งต้ม แกง ปลาเค็ม ปลาหยอง ปลาทุบ แม้แต่ทำเค็กเนื้อปลา

ผลกำไร

ตลอด ระยะเวลาช่วงเลี้ยง 8-9 เดือน ตัวรุ่นเล็ก 2500 ตัว จะได้น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1200 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 60 บาท เป็นอย่างต่ำ เป็นเงิน 72000 บาท การลงทุนหากไม่คิดค่าบ่อ คิกแต่ค่าอาหารช่วงเล็กๆค่าน้ำ ค่ากระแสไฟฟ้า ใช้แรงงานในครัวเรือนแล้วใช้เงินประมาณ 1500บาท/รุ่น ซึ่งก็ทำให้มีผลกำไรสูง ถ้าเลี้ยงหมุนเวียนประมาณ 3 บ่อ ก็จะมีรายได้ที่งดงามจริงๆ สนใจ ดูการเลี้ยงปลาช่อนในบ่อซีเมนต์ เส้นทางของเกษตรมีอนาคต สามารถเป็นรูปแบบจุดประกายความคิดให้อีกหลายๆ ชีวิต ได้ลุกขึ้นสู้ภัยเศรษฐกิจ รีบกลับบ้านที่ว่างในรั้วบ้านยังมีพอจะสร้างบ่อซีเมนต์แล้วเลี้ยงปลาหรือกบ หรือคางคก ทุกอย่างสามารถเลี้ยงเป็นเงินทั้งนั้น หรือจะเข้าชมการเลี้ยงของคุณย้อม แสงสว่าง เลขที่ 8 หมู่ 2ต.ป่างิ้ว อ. เมือง จ.อ่างทอง ชมรมเพื่อนเกษตรโทร.035-627333

การทำปลาช่อนเค็มแดดเดียว


ปลาช่อน จำนวน 25 กิโลกรัม

เกลือเม็ด จำนวน 1 กิโลกรัม

น้ำสะอาด จำนวน 1 ปีบ

สีผสมอาหาร จำนวน 1 ซอง

น้ำแข็งละเอียด จำนวน 20 กิโลกรัม


วิธีทำ

ทำ ความสะอาดขอดเกล็ด ตัดกลีบ ตัดหัว ผ่าท้องตามยาว ถ้าตัวเล็กไม่ต้องผ่ากลาง แต้ถ้าตัวใหญ่ให้ผ่ากลาง เอากระดูกสันหลังออก ล้างน้ำให้สะอาด ผสมเกลือกับน้ำให้ละลาย ชิมน้ำให้เค็มพอดี แล้วนำปลาใส่และใส่น้ำแข็ง แช่ไว้ในถังพลาสติก ทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นนำปลาออกมาล้างให้สะอาด นำไปตากแดดประมาณ 5-6 ชั่วโมงก็นำออกไปขายหรือบริโภคได้อร่อย ปลาจะเนื้อนิ่มระดับความเค็มจะพอดี และน้ำแข็งจะทำให้เนื้อปลาสด ขณะที่แช่หมักไว้ ควรทดลองทำ 1-2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบความเค็มให้พอเหมาะตามต้องการ ปลาช่อนเค็มแดดเดียวราคาขายกิโลกรัมละ 120-140 บาท
การเพาะเลี้ยงปลาช่อน
ชื่อไทย ช่อน (ภาคกลางและภาคใต้ ) , ค้อ ( ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ )
ชื่อสามัญ STRIPED SNAKE-HEAD FISH
ชื่อวิทยาศาสตร์ Channa striatus

ปลาช่อนเป็นปลาพื้นเมืองของไทย พบอาศัยแพร่กระจายทั่วไปตามแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของไทย อาศัยอยู่ในแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ หนองและบึง ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดที่มีมาหลายร้อยพันปีแล้วนอกจากจะพบในประเทศไทยยังมี แพร่หลายในประเทศจีน อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าการเลี้ยงปลาช่อนในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกที่ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ 40 ปีมาแล้ว โดยชาวจีนที่ตลาดบางลี่ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นนายทุนได้รวบรวมลูกพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตพื้นที่อำเภอสอง พี่น้อง มาทดลองเลี้ยงดูและเห็นว่าพอเลี้ยงได้จึงออกทุนให้กับคนญวนที่มี ภูมิลำเนาติดกับแม่น้ำท่าจีนและคลองสองพี่น้องในตำบลสองพี่น้อง ตำบลต้นตาล โดยสร้างกระชังในล่อนแล้วแต่ขนาดและความเหมาะสม นำลูกปลาช่อนมาลงเลี้ยง โดยผลผลิตที่ได้นายทุนจะรับซื้อเอง แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องเลิกเพราะเกษตรกรบางรายนำลูกปลาช่อนไปลองเลี้ยงในบ่อ ดินและพบว่าได้ผลดีกว่าและต้นทุนต่ำกว่า และปริมาณลูกปลาช่อนที่ได้รับก็มีจำนนวนมากกว่า

ลักษณะทั่วไป
ปลาช่อนเป็นปลามีเกล็ด ลำตัวอ้วนกลมและยาวเรียว ท่อนหางแบนข้าง หัวแบนลง เกล็ดมีขนาดใหญ่และเกล็ดตามลำตัวเป็นสีเทาจนถึงน้ำตาลอมเทา ปากกว้างมาก มุมปากยาวถึงตา ริมฝีปากล่างยื่นยาวกว่าริมฝีปากบน มีฟันซี่เล็กๆอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ตามีขนาดใหญ่ ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหลังมีก้านครีบ 38-42 อัน ครีบก้นมีก้านครีบ 24-26 อัน ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบท้องมีขนาดเล็ก ครีบหางกลม โคนครีบหางแบนข้างมาก ลำตัวส่วนหลังมีสีดำ ท้องสีขาว ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง เกล็ดตามเส้นข้างลำตัวมีจำนวน 49-55 เกล็ด และมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ ปลาช่อนจึงมีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี อยู่ในที่ชื้นๆได้นาน และสามารถเคลื่อนไหวไปมาบนบกหรือฝังตัวอยู่ในโคลนได้เป็นเวลานานๆ

การแพร่ขยายพันธุ์และการวางไข่
ปลาช่อนสามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปี สำหรับฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม แต่ช่วงที่แม่ปลามีความพร้อมมากที่สุดในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ในฤดูวางไข่จะเห็นความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้กับปลาเพศเมียได้ชัดเจนยิ่ง ขึ้น กล่าวคือ ปลาเพศเมียลักษณะท้องจะอูมเป่ง ช่องเพศขยายใหญ่มีสีชมพูปนแดง ครีบท้องกว้างสั้น ส่วนปลาเพศผู้ลำตัวมีสีเข้ม ใต้คางมีสีขาว ลำตัวยาวเรียวกว่าตัวเมีย พ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ควรมีน้ำหนักตัวประมาณ 800-1,000 กรัม ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติปลาช่อนจะสร้างรังวางไข่ตามแหล่งน้ำนิ่ง ความลึกประมาณ 30-100 เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรังด้วยการกัดหญ้าหรือพันธุ์ไม้น้ำ และใช้หางโบกพัดตลอดเวลา เพื่อทำให้รังมีลักษณะเป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-40 เซนติเมตร ปลาจะกัดหญ้าที่บริเวณกลางๆของรัง ส่วนดินใต้น้ำปลาก็จะตีแปลงจนเรียบ
หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะคอยรักษาไข่อยู่ใกล้ๆเพื่อมิให้ปลาหรือศัตรูอื่นเข้ามากิน จนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้พ่อแม่ปลาก็ยังให้การดูแลพาลูกหาอาหาร เมื่อลูกปลามีขนาด 4.5-6 เซนติเมตร จึงสามารถแยกตัวออกไปหากินตามลำพังได้ ซึ่งลูกปลาในวัยนี้มีชื่อเรียดว่า ลูกครอกหรือลูกชักครอก ลูกปลาขนาดดังกล่าวน้ำหนักเฉลี่ย 0.5 กรัม ปลา 1 กิโลกรัมจะมีลูกครอกประมาณ 2,000 ตัว ซึ่งลูกครอกระยะนี้จะมีเกษตรกรผู้รวบรวมลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติจับมา จำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเนื้อ

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ปลาช่อนที่นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ควรเป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์ ไม่บอบช้ำและมีน้ำหนักตั้งแต่ 800-1,000 กรัมขึ้นไปและอายุ 1 ปีขึ้นไป ลักษณะของพ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนที่ดี เหมาะสมจะนำมาใช้ผสมพันธุ์ แม่พันธุ์ควรมีส่วนท้องอูมเล็กน้อย ลักษณะติ่งเพศมีสีแดงหรือชมพูอมแดง ถ้าเอามือบีบเบาๆที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมามีลักษณะกลมสีเหลืองอ่อน ใส ส่วนพ่อพันธุ์ติ่งเพศควรจะมีสีชมพูเรื่อๆ ปลาไม่ควรจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมจนเกินไป

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน
ในการเพาะพันธุ์ปลาช่อนต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ บ่อเพาะพันธุ์ควรมีระดับความลึกของน้ำประมาณ 1.0-1.5 เมตร และมีการถ่ายเทน้ำบ่อยๆเพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้ดี มีการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์ซึ่งจะทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนมีน้ำ เชื้อและไข่ที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน ทำได้ 2 วิธีคือ
1. การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ วิธีนี้ควรใช้บ่อเพาะพันธุ์เป็นบ่อดินขนาด 0.5-1.0 ไร่พร้อมทั้งจัดสภาพสิ่งแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติโดยปล่อยพ่อแม่พันธุ์ใน อัตรา 1:1ให้ปลาเป็ดผสมรำเป็นอาหารในปริมาณร้อยละ 2.5-3 ของน้ำหนักปลา
2. การเพาะพันธุ์โดยวิธีการผสมเทียมด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่เพื่อที่รีดไข่ให้ผสมกับ น้ำเชื้อ หรือปล่อยให้ผสมกันเองตามธรรมชาติ ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ได้แก่ LHRHa หรือ LRH-a โดยใช้ร่วมกับ Domperidone
การฉีดฮอร์โมนผสมเทียมปลาช่อนโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ฉีดเร่งให้แม่ปลาวาง ไข่นั้นฉีดเพียงครั้งเดียวที่ระดับความเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัมร่วมกับ Domperidone 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ส่วนพ่อพันธุ์ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ระดับความเข้มข้น 15 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัมร่วมกับ Domperidone 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม จากนั้นประมาณ 8-10 ชั่วโมงสามารถรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อได้ เนื่องจากไข่ปลาช่อนมีไขมันมากเมื่อทำการผสมเทียมจึงต้องล้างน้ำหลายๆครั้ง เพื่อขจัดคราบไขมัน นำไข่ไปฟักในถังไฟเบอร์กลาสขนาด 2 ตันภายในถังเพิ่มออกซิเจนผ่านหัวทรายโดยเปิดเบาๆในกรณีที่ปล่อยให้พ่อแม่ปลา ผสมพันธุ์กันเอง หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้วต้องแยกไข่ไปฟักต่างหากเช่นกัน

การฟักไข่
ไข่ปลาช่อนมีลักษณะกลมเล็ก เป็นไข่ลอย มีไขมันมาก ไข่ที่ดีมีสีเหลือง ใส ส่วนไข่เสียจะทึบ ไข่ปลาช่อนฟักเป็นตัวภายในเวลา 30-35 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 27 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด-ด่าง 7.8 และความกระด้าง 56 ส่วนต่อล้าน

การอนุบาลลูกปลาช่อน
ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆลำตัวมีสีดำ มีถุงไข่แดงสีเหลืองใส ปลาจะลอยตัวในลักษณะหงายท้องขึ้นอยู่บริเวณผิวน้ำ ลอยอยู่นิ่งๆไม่ค่อยเคลื่อนไหว หลังจากนั้น 2-3 วันจึงพลิกกลับตัวลงและว่ายไปมาตามปกติโดยว่ายรวมกันเป็นกลุ่มบริเวณผิวน้ำ ลูกปลาช่อนที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆ ใช้อาหารในถุงไข่แดงที่ติดมากับตัวเมื่อถุงไข่แดงยุบวันที่ 4 จึงเริ่มให้อาหารโดยใช้ไข่แดงต้มสุกบดละลายกับน้ำผ่านผ้าขาวบางละเอียดให้ ลูกปลากินวันละ 3 ครั้ง เมื่อลูกปลามีอายุย่างเข้าวันที่ 6 จึงให้ไรแดงเป็นอาหารอีก 2 สัปดาห์ และฝึกให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น เนื้อปลาสดสับ โดยใส่อาหารในแท่นรับอาหารรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีทุ่นผูกติดอยู่ ถ้าให้อาหารไม่เพียงพออัตราการเจริญเติบโตของลูกปลาจะแตกต่างกัน และเกิดพฤติกรรมการกินกันเองทำใหอัตราการรอดตายต่ำจึงต้องคัดขนาดลูกปลา การอนุบาลลูกปลาช่อนโดยทั่วไปจะมีอัตราการรอดประมาณร้อยละ 70 และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันร้อยละ 50 ของปริมาตรน้ำ

การเลี้ยงปลาช่อน
ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนจึงต้องเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยทั่วไปนิยมเลี้ยงด้วยปลาเป็ด อัตราการปล่อยปลา นิยมปล่อยลูกปลาขนาด 8-10 เซนติเมตรหรือ น้ำหนัก 30-35 ตัว/กิโลกรัม ควรปล่อยในอัตรา 40-50 ตัว/ตารางเมตร และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ให้ใช้ฟอร์มาลีนใส่ในบ่อเลี้ยงอัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน ( 3 ลิตร/น้ำ 100 ตัน ) ในวันแรกที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น โดยเมื่อปล่อยลูกปลาช่อนลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงลูกปลาช่อนมีขนาดเล็ก คือ ปลาเป็ดผสมรำในอัตราส่วน 4:1 หรืออัตราส่วนปลาเป็ดร้อยละ40, รำร้อยละ30, หัวอาหารร้อยละ30 ปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกินร้อยละ 4-5 ของน้ำหนักตัวปลา วางอาหารไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบบลอยไว้ใต้ผิวน้ำ 2-3 เซนติเมตร ควรวางไว้หลายๆจุด
การถ่ายเทน้ำ ช่วงแรกความลึกของน้ำในบ่อควรอยู่ที่ระดับ 30-40 เซนติเมตร แล้วค่อยๆเพิ่มระดับน้ำสัปดาห์ละ 10 เซนติเมตรจนได้ระดับ 50 เซนติเมตรจึงถ่ายน้ำวันละครั้ง หลังจากอนุบาลลูกปลาในบ่อดินประมาณ 2 เดือน ปลาจะเติบโตไม่เท่ากัน ใช้อวนลากลูกปลาเพื่อคัดขนาด ไม่เช่นนั้นปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก หลังจากอนุบาลลูกปลาในช่วง 2 เดือนแล้วต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 4-5 เดือนจะให้ผลผลิต 1-2 ตัว/กิโลกรัม เช่น เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานจะได้ผลผลิตมากกว่า 6,000 กิโลกรัม และเมื่อปลาโตได้ขนาดต้องการจึงจับจำหน่ายซึ่งก่อนจับปลาควรงดอาหาร 1-2 วัน
การจับขายจับโดยการสูบน้ำออก 2 ใน 3 แล้วตีอวน ระลึกไว้ว่าปลาช่อนเป็นปลาที่ชอบมุดโคลนเลน ดังนั้นถ้าปลาเหลืออยู่น้อย ควรสูบน้ำให้แห้งแล้วจับออกให้หมด นำปลาที่ได้มาล้างโคลนออกก่อนที่จะส่งตลาด

การเลือกสถานที่เลี้ยงปลาช่อน
ควรจะพิจารณาเป็นข้อๆดังนี้
1. ใกล้แหล่งน้ำจืด ที่สามารถใช้ได้ตลอดปี
2. น้ำไม่เป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไป
3. ที่ดอน น้ำไม่ท่วม และเป็นที่ราบ
4. ดินเหนียว หรือปนทราย
5. คมนาคมสะดวก

การเตรียมบ่อ
1. พื้นที่ที่ใช้ไม่ควรต่ำกว่าบ่อละครึ่งไร่ลึก 1.5 - 2 เมตร ทำคันดินที่ปากบ่อเมื่อเก็บน้ำได้ระดับสูงสุด ระดับน้ำควรต่ำกว่าคันดินประมาณ 8 เมตร
2. กั้นรั้วตาข่ายหรือไนล่อนที่ปากบ่อกันปลาช่อนกระโดดหนี
3. อัดดินในบ่อให้เรียบแน่น
4. ในกรณีที่เป็นบ่อเก่าควรสูบน้ำทิ้ง เหลือน้ำไว้ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร
5. โรยโล่ติ๊นกำจัดปลาที่ไม่ต้องการ และโรยปูนขาวในอัตรา 60-100 กิโลกรัมต่อ 1ไร่เพื่อฆ่าพยาธิและปรับสภาพดิน
6. ตากบ่อ 5-7 วัน
7. ใส่ปุ๋ยคอกตากหมาดๆ 40-80 กิโลกรัมต่อไร่
8. ระดับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาช่อนลูกปลาขนาดเล็กกว่า 5 เซนติเมตรน้ำลึก 30-40 เซนติเมตร ปลาและลูกปลาขนาดมากกว่า 6 เซนติเมตรน้ำลึก 80-150 เซนติเมตร

**ลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาช่อนเลี้ยงและปลาช่อนนา (ปลาช่อนที่จับจากธรรมชาติ )
- ปลาช่อนนา สีเกล็ดของลำตัวจะมีสีไม่แน่นอน แล้วแต่แหล่งน้ำที่อาศัย หัวค่อนข้างใหญ่และยาว ปากค่อนข้างแบน ลำตัวเพรียวยาวแต่ไม่กลม เมื่อผ่าท้องดูจะเห็นว่าบริเวณลำไส้ไม่มีไขมัน นอกเหนือจากฤดูวางไข่ซึ่งตัวเมียที่สมบูรณ์กำลังมีไข่อ่อนจะมีไขมันติดเพียง เล็กน้อยเท่านั้น
- ปลาช่อนเลี้ยง สีเกล็ดของลำตัวจะมีสีเดียวกันหมด หัวเล็กสั้น ปลายปากมนเรียว ลำตัวอ้วนกลมยาวพอประมาณ เมื่อผ่าท้องดูจะเห็นบริเวณลำไส้จะมีไขมันจับเป็นก้อนทุกตัว

โรคและการป้องกัน
โรคพยาธิและอาการของปลาช่อนส่วนใหญ่ ได้แก่
1. โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส หนอนสมอ จะเกาะดูดเลือดทำให้เกิดเกล็ดหลุด ตัวแข็งมีแผลตามตัว ปลาเกิดการระคายเคือง ถ้าปล่อยไว้นานปลาอาจจะตายหมดบ่อ ให้ใช้ดิปเทอร์เรกซ์ 400g/ 0.5 ไร่ทิ้งค้างคืนงดอาหารจนกว่าจะถ่ายน้ำใหม่หรือใช้ฟอร์มาลีน 150-200 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ประมาณ 24 ชั่วโมง
2. ท้องบวมหรือเกล็ดหลุดเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ใช้เทอรามัยซิน 2 กรัมในอาหาร 1 กิโลกรัมให้ปลากิน
3. โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน เช่น พยาธิหัวหนาม พบในลำไส้ ลักษณะอาการตัวผอมและกินอาหารลดลง การรักษาโดยใช้ยาถ่ายพยาธิ

ตลาดและการลำเลียงขนส่ง
ในการขนส่งนิยมใช้ลังไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในกรุสังกะสีกว้าง 58 เซนติเมตรยาว 94 เซนติเมตร ความสูง 38 เซนติเมตร สามารถขนส่งโดยรถบรรทุกสู่ตลาดทั่วทุกภาคของประเทศไทย สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณการนำเข้าปลาช่อมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ต้องการปลาช่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวกว่า 1 กิโลกรัม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเข้าปลาช่อนที่มีน้ำหนักประมาณ 400-500 กรัม และ 700-800 กรัม สำหรับตลาดผู้บริโภคปลาช่อนในกรุงเทพฯต้องการปลาใหญ่ซึ่งมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัมขึ้นไป เป็นต้น

3 ความคิดเห็น:

  1. มีใครรับซื้อลูกปลาช่อนนาบ้างไหมคาบ

    ตอบลบ
  2. ติดต่อที่ 0980271125 (ป๋อ)

    ตอบลบ
  3. ผมมีปลาช่อนขนาด3-4ตัวโลมีใครรับซื้อบ้างครับธนวัฒน์

    ตอบลบ