วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การเลี้ยงปลาบู่

3 comments March 20th, 2009

ปลาบู่
ปลาบู่ เลี้ยงน้อย แต่ได้กำไรมาก ของ พูนศักดิ์ ตันติเดชามงคล

ไม่ ได้เขียนเรื่องราวเรื่องปลาบู่นานแล้ว เพราะอะไรหนึ่ง เทคโนโลยีการเลี้ยงยังไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้ามาก สอง ผู้เลี้ยงปลาบู่เป็นอาชีพยังมีน้อย

แต่ที่เปลี่ยนแปลงไป ก็คือ ราคารับซื้อผลผลิตปลาบู่ปรับตัวขึ้นตลอด จาก 250 บาท เป็น 350 บาท และล่าสุด 500 บาท ต่อกิโลกรัมแล้ว

เห็นมั้ยล่ะ! น่าสนใจขนาดไหน อดไม่ได้ที่จะหาหนทางมาเสนอ แม้ว่าไม่มีอะไรใหม่ แต่ราคารับซื้อนี่ซิ สูงจนน่าติดตาม

เหตุผล ที่ราคารับซื้อสูง อาจเป็นเพราะว่าสัตว์น้ำชนิดนี้หายาก และไม่มีใครนิยมเลี้ยงกัน ประกอบกับตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน มีความต้องการเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีการแย่งซื้อสินค้ากัน ส่งผลให้ราคารับซื้อปรับขึ้นสูงตลอด

ทำไม อาชีพการเพาะเลี้ยงปลาบู่จึงไม่ค่อยนิยมกัน เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้คำตอบ โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่นอกวงการสัตว์น้ำ

สาเหตุ เพราะว่าสัตว์น้ำชนิดนี้หาสายพันธุ์ยาก แม้ว่าทางกรมประมงจะประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์แล้วก็ตาม แต่ขั้นตอนอนุบาลนั้นยังมีการเจริญเติบโตไม่เหมือนสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ นั่นก็คือ จะต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงจากลูกปลา จนได้ขนาด 1 ขีด นานกว่า 1 ปี ส่งผลให้เกษตรกรไม่ค่อยนิยมซื้อพันธุ์ปลา อายุ 1-2 เดือน จากกรมประมงไปเลี้ยง ส่วนใหญ่จะเสาะหาปลาขนาด 1-2 ขีด จากธรรมชาติมากกว่า เพราะว่าไม่ต้องเสียเวลาในการเลี้ยงอนุบาลนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในการนำพันธุ์จากธรรมชาติมาเลี้ยงก็ยังมีข้อเสียอยู่ 2 ประการหลักๆ หนึ่ง จำนวนหรือปริมาณไม่แน่นอน สอง ลูกปลาที่ได้มามีสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรง อันเนื่องมาจากการดักจับ

แท้จริงพันธุ์ปลาบู่ในธรรมชาติยังมีค่อน ข้างมาก โดยเฉพาะภายในบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ทว่าเมื่อนำมาเลี้ยงต่อจะไม่ค่อยรอดชีวิต เนื่องจากในระหว่างการจับเกิดความบอบช้ำทั้งภายในและภายนอกลำตัว ยกเว้นลูกปลาที่จับจากการวางลอบ จะเกิดบาดแผลน้อย ยิ่งจับได้ตามแหล่งน้ำใกล้ๆ กับสถานที่เลี้ยงก็ยิ่งมีอัตรารอดชีวิตระหว่างเลี้ยงสูง เพราะว่าทั้งอุณหภูมิน้ำ และสภาพน้ำหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ใกล้เคียงกันนั่นเอง

รู้จัก พูนศักดิ์ ตันติเดชามงคล ผู้เลี้ยงปลาบู่ในลุ่มน้ำแม่กลอง

แม่ กลอง เป็นชื่อลำน้ำสำคัญทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดตาก และจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณหุบเขาและบนที่สูงของเทือกเขาถนนธงชัยกับเทือกเขาตะนาวศรีกั้นเขตแดน ประเทศไทยกับประเทศพม่า

ลำน้ำที่ไหลจากเขตจังหวัดตาก เรียก แควใหญ่ หรือแควศรีสวัสดิ์ และลำน้ำที่ไหลจากเขตจังหวัดกาญจนบุรีเรียก แควน้อย หรือ แควไทรโยค

แควทั้งสองไหลมาสมทบกันที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นลำน้ำใหม่เรียก แม่กลอง

แม่ น้ำแม่กลองไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี ต่อจากนั้นไหลลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี แล้วเข้าสู่เขตอำเภอบางคนที อำเภออัมพวา และออกท้องทะเลอ่าวไทย ที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม เรียกบริเวณนั้นว่า อ่าวแม่กลอง

จังหวัดสมุทรสงคราม สภาพพื้นที่เหมาะแก่การทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน และบริเวณปากอ่าวมีน้ำกร่อยและน้ำเค็มด้วย ซึ่งลักษณะเช่นนี้จึงเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประเภทสัตว์น้ำที่เป็นอาหารเลี้ยงประชากรในท้องถิ่นและเป็นสินค้าออกในรูป ของอาหารทะเลสดๆ เช่น ปู ปลา กุ้ง หอย นานาชนิด

แม่น้ำแม่กลอง เปรียบเสมือนสายโลหิตที่สำคัญในการดำรงชีวิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยว่าเป็นแหล่งอุปโภค บริโภค ใช้ในการเกษตร การประมง อุตสาหกรรม การคมนาคม ขนส่งสินค้า มิแปลกที่ชาวบ้านนิยมตั้งบ้านเรือนสองฝั่งริมแม่น้ำแม่กลอง คุณพูนศักดิ์ ตันติเดชามงคล อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 5 ตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที จังหวัดสุมทรสงคราม โทร. (084) 084-8431 มีบ้านอยู่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง เดิมทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างทั่วๆ ไป แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จึงหันมาเลี้ยงปลากะพง และปลาทับทิม ในกระชังบริเวณหน้าบ้านริมแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ สามารถเลี้ยงปลาจนโตและจับขายส่งตลาดได้ แต่เมื่อสรุปรายรับ-รายจ่ายแล้ว ปรากฏว่า ได้รับกำไรน้อยมาก เนื่องจากปลาทั้งสองชนิดดังกล่าวกินอาหารเก่ง ทำให้จำเป็นต้องใช้เงินเลี้ยงปลาแต่ละรุ่นค่อนข้างสูง ประกอบกับในท้องตลาดบางช่วงมีปริมาณปลาเยอะ ส่งผลให้ราคารับซื้อลดลงด้วย

“ผมเกิดที่นี่ เห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอด โดยเฉพาะสภาพแวดล้อม และสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน จากออกเรือดักอวน หาปลาในธรรมชาติ ป้อนตลาด และมีการพัฒนาเลี้ยงปลาในกระชัง โดยอาศัยสายน้ำแม่กลองแห่งนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นเพื่อนบ้านประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลากะพง และปลาทับทิม จึงอยากยึดอาชีพนี้ด้วย แต่ทว่าเมื่อทำไประยะหนึ่ง ก็ได้รู้คำตอบว่า กำไรที่ได้รับมันไม่ใช่สวยหรูอย่างที่คิด ทำให้เป็นเหตุต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่อีกคือ เลี้ยงปลาบู่ และเป็นคำตอบสุดท้ายจนมาถึงวันนี้ว่า ดีที่สุด” คุณพูนศักดิ์ กล่าว

เหตุผล ที่พูดว่า ดีที่สุดนั้น คุณพูนศักดิ์ อธิบายว่า เป็นปลาน้ำจืดที่มีราคารับซื้อสูงมาก และปรับตัวขึ้นตลอด จาก 300 บาท ต่อกิโลกรัม เป็น 400 บาท และเวลานี้เกือบ 500 บาท ต่อกิโลกรัมแล้ว มิหนำซ้ำมีพวกพ่อค้าแม่ค้าแย่งกันซื้อสินค้า หรือปลาบู่อีกด้วย

“ปลา ชนิดนี้ รสชาติดีมาก โดยเฉพาะนึ่งซีอิ๊ว แต่คนไทยไม่นิยมซื้อมากินกัน ส่วนใหญ่พวกพ่อค้าและแม่ค้ามักส่งออกไปขายที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร จีน เป็นต้น เมื่อไปตลาดปลายทางและแปรรูปเป็นอาหารแล้ว จะขายกันกิโลกรัมละ 1,000-2,000 บาท เลยทีเดียว” คุณพูนศักดิ์ กล่าว

สร้างกระชังเลี้ยงปลาบู่ ออกแบบง่ายๆ

หน้า บ้านริมน้ำแม่กลองของคุณพูนศักดิ์ เป็นสถานที่เลี้ยงปลาบู่ในกระชัง โดยใช้เหล็กแป๊บเชื่อมต่อเป็นแพยาวกว่า 10 เมตร และซื้อถังพลาสติค 200 ลิตร เกือบ 20 ลูก มาทำทุ่นเพื่อพยุงกระชังไม่ให้จมน้ำ

กระชังมีทั้ง หมด 5-6 ลูก แต่ละกระชังส่วนใหญ่มีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร โดยออกแบบให้สามารถแยกกระชังออกกับแพได้ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการทำความสะอาดและตรวจเช็ครอยรั่วของกระชังหลังการจับปลาขายแต่ ละรุ่น

“ใจจริงผมอยากทำกระชังเลี้ยงปลาบู่ให้มากกว่านี้ แต่ปัญหามาติดอยู่ว่า ไม่สามารถเสาะหาพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพมาเลี้ยงได้จำนวนละมากๆ ต้องอาศัยชาวบ้านช่วยดักจับลูกปลาแถวๆ นี้ หรือสายน้ำแม่กลอง เพราะว่าถ้านำพันธุ์ปลาที่อื่นๆ มาเลี้ยงที่นี่ ส่วนใหญ่แล้วปลาไม่ค่อยรอดหรือเสียหายค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่มาจากบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพราะว่าในการจับปลามาขายส่วนใหญ่มาพร้อมกับกุ้งก้ามกราม ทำให้เกิดบาดแผลและมีเมือกออกมาด้วยนั่นเอง” คุณพูนศักดิ์ กล่าว

พันธุ์ปลาบู่ที่มีคุณภาพหายาก

พันธุ์ปลาที่ชาวบ้านจับมาขายให้กับคุณพูนศักดิ์นั้น แม้ว่าดักจับด้วยลอบ หรือวิดน้ำจับปลาจากธรรมชาติ โดยไม่บอบช้ำมา แต่ก่อนซื้อปล่อยเลี้ยงนั้นคุณพูนศักดิ์จะนั่งตรวจเช็คทุกตัว เพื่อคัดตัวที่ไม่สมบูรณ์ออกทิ้ง

“การเลี้ยงปลาบู่ให้ประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขั้นตอนซื้อพันธุ์มาเลี้ยงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เราต้องเลือกให้ดี บอบช้ำหรือมีเมือกออกมานิดหน่อย เราก็ไม่เอาแล้ว เพราะว่าเลี้ยงไปสัก 20-30 วัน ก็ลอยตายให้เห็น เสียทั้งเงินและเวลาไปเปล่า สู้มานั่งเสียเวลาคัดเลือกในช่วงแรกไม่ได้ แถมไม่ต้องมาเสียเงินซื้อด้วย”

คุณพูนศักดิ์ บอกย้ำว่า ด้วยเหตุผลเรื่องสายพันธุ์นี่แหละ ทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่หรือกระชังเลี้ยงปลาให้มากกว่านี้ได้

“พันธุ์ปลาบู่มีเยอะ ทั้งในบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง แต่ทว่ามีข้อกำจัดทั้งนั้น นำมาเลี้ยงแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยคุ้มค่า”

“ผมเลี้ยงปลา ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป มีพันธุ์ที่มีคุณภาพ เราก็ซื้อมาเลี้ยง ไม่มีเราก็คอย ไม่ต้องรีบร้อน ซึ่งสามารถป้องกันการขาดทุนได้ แม้ว่าขณะนี้ผมเลี้ยงน้อยๆ แต่ทว่าเมื่อจับขายแต่ละครั้งกำไรหลายแสนบาททีเดียว เพราะว่าราคารับซื้อมันดีมากนั่นเอง” คุณพูนศักดิ์ กล่าว

อนุบาลปลาในบ่อปูน ก่อนปล่อยเลี้ยงในกระชัง

พันธุ์ปลาบู่ที่คุณพูนศักดิ์ซื้อมาเลี้ยงส่วนใหญ่จะมีขนาด 10 ตัว ต่อกิโลกรัม หรือตัวละ 1 ขีด ในราคากิโลกรัมละ 30 บาท

“ในการหาซื้อพันธุ์ปลามาเลี้ยงนั้น ผมจะไปติดต่อกับชาวบ้านที่อาศัยในตามลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ทั้งในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เมื่อได้ปริมาณมากแล้ว จะขับรถกระบะ มีทั้งถังน้ำ พร้อมออกซิเจน เพื่อไปบรรทุกพันธุ์ปลากลับมาเลี้ยงที่บ้าน” คุณพูนศักดิ์ เล่าให้ฟัง

เมื่อถึงบ้าน คุณพูนศักดิ์จะไม่ปล่อยพันธุ์ลงเลี้ยงในกระชังทันที แต่จะนำมาอนุบาลไว้ในบ่อซีเมนต์ ขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 2 เมตร ซึ่งมีการพ่นน้ำและเปิดออกซิเจนอยู่ตลอดเวลา

“บ่อขนาดนี้ เราดูดน้ำเข้าไปให้อยู่ระดับ 40-50 เซนติเมตร ซึ่งสามารถปล่อยพันธุ์ปลาลงไปอนุบาลได้เกือบ 80 กิโลกรัม เลย เพราะว่าขนาดปลายังเล็กอยู่ อีกทั้งในช่วงนี้ เราไม่จำเป็นต้องให้อาหารอะไร เพียงแต่พักปลาไว้อย่างเดียว ทำให้คุณภาพของปลาในบ่อเลี้ยงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก”

คุณพูนศักดิ์ พักปลาอยู่ในบ่อปูนซีเมนต์ดังกล่าว ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งหากปลาตัวไหนไม่แข็งแรง ก็จะทยอยตายในช่วงนี้ หลังจากหยุดตายก็นำไปปล่อยเลี้ยงสู่กระชัง

ปลาบู่เลี้ยงง่าย ขายคล่อง

เมื่อปลาผ่านการอนุบาลไปแล้ว ก็เท่ากับการเลี้ยงขั้นต่อไป มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงแล้ว เนื่องจากปลาที่เหลือเป็นตัวที่แข็งแรง และสามารถปรับเลี้ยงในสถานที่แคบๆ หรือในกระชังได้

1 กระชัง ที่มีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 1.50 เมตร สามารถปล่อยลงเลี้ยงได้ประมาณ 600 ตัว และทุกๆ 2 วัน ให้กินอาหาร 1 ครั้ง ในช่วงเย็น

อาหารของปลาบู่นั้น คุณพูนศักดิ์ จะซื้อปลาทูหรือปลาข้างเหลือง ในราคา 12 บาท ต่อกิโลกรัม มาสับๆ ผสมกับเกลือแกงนิดหน่อย ใส่ลงในตะกร้าพลาสติค หย่อนลงไปในกระชัง 1 คืบ

ปลาบู่ในกระชังหลังตะวันตกดินก็จะค่อยๆ ขึ้นมากินเหยื่อหรืออาหารที่วางไว้ และรุ่งเช้าก็ดึงตะกร้าขึ้นมาตรวจสอบดูว่ามีอาหารเหลือหรือไม่

หาก อาหารเหลือ ก็ให้ลดปริมาณอาหารลง แต่ถ้าหมดก็ให้เพิ่มขึ้นไปอีก เขาบอกว่า เมื่อเลี้ยงในกระชังได้ประมาณ 6 เดือน ปลาก็จะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 4 ขีด แต่ส่วนใหญ่เลี้ยงให้อายุครบ 1 ปี ถึงจะขาย เพราะว่าต้องการให้ปลาโตขึ้น คือน้ำหนักประมาณ 8 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม

“ปลาที่เลี้ยงในกระชัง ประมาณ 6-7 เดือน ไปแล้ว จะกินอาหารวันละ 5 กิโลกรัม แต่เมื่อ 10-12 เดือน ก็กินอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 7 กิโลกรัม แต่ก็คุ้มค่า เพราะว่ากินมาก น้ำหนักปลาที่เราเลี้ยงไว้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่ดีมากเลย” คุณพูนศักดิ์ กล่าว

สำหรับการขายปลาบู่นั้น คุณพูนศักดิ์ บอกว่า จะมีกลุ่มพวกพ่อค้าแม่ค้าอยู่จำนวนหนึ่ง เพื่อซื้อส่งออกโดยตรง เพียงแต่เรายกหูโทรศัพท์เท่านั้น พวกเขาก็เดินทางมารับซื้อที่หน้าฟาร์มเลย โดยให้ราคาสูงจนผู้เลี้ยงพอใจ และไม่อยากทำอาชีพอื่นแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น